"นาจา" เด็กชายผู้เปี่ยมพลัง แต่ไร้ที่ให้เป็นตัวของตัวเอง

"นาจา" เด็กชายผู้เปี่ยมพลัง แต่ไร้ที่ให้เป็นตัวของตัวเอง

21 มี.ค. 2568   ผู้เข้าชม 10

"นาจา" ภาพแทนของจิตใจมนุษย์ที่เคยถูกกดทับ ถูกคาดหวัง จนต้องระเบิดออกมาในรูปแบบแห่งความเจ็บปวด แล้วกลับมาเกิดใหม่ด้วยการยอมรับตนเองและสร้างคุณค่าให้กับโลกในแบบของตนเอง

ในช่วงเดือนมีนาคมของ ปี 2025 เกิดปรากฎการณ์อนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ชื่อดังของจีน Ne Zha 2 มีรายได้ถล่มทลาย ตัวผู้เขียนเองก็เพิ่งไปดูมาสด ๆ ร้อน ๆ ถ้าไม่มัวอินไปกับหนังจนน้ำตาแตกก็เอาแต่นั่งคิดว่า ฉากนี้มันไม่บ้าคลั่งไปหน่อยเหรอ? อนิเมชั่นนี่มันทำถึง ทำเกินเบอร์ไปได้ขนาดนี้จริง ๆ เหรอ?

กำเนิดนาจา ตัวตึงแห่งเมืองเฉินถัง

นาจาปรากฏบทบาทครั้งแรกในนิยายจีนเรื่อง ห้องสิน หรือ เฟิงเสินเยี่ยนยี่ (Investiture of the Gods) ซึ่งเป็นวรรณกรรมประเภทเทพปกรณัม (shenmo) ประพันธ์ขึ้นในช่วงราชวงศ์หมิง (คริสต์ศตวรรษที่ 16) และตีพิมพ์ครั้งแรกประมาณทศวรรษ 1550

หนึ่งในตอนสำคัญที่สุดของ "ตำนานนาจา" เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งกับอ๋าวปิ่ง (Ao Bing / 敖丙) ลูกชายของมหาราชามังกรแห่งทะเลตะวันออก (東海龍王)

ขณะที่ประชาชนเมืองเฉินถังกำลังประสบภัยแล้งและความเดือดร้อนจาก มังกรแห่งทะเลตะวันออก ที่เรียกเก็บส่วยและทรมานชาวบ้านในแต่ละวัน นาจาในวัยเด็กออกจากบ้านไปเล่นที่ทะเลได้บังเอิญเจอกับบริวารของราชามังกรที่มาก่อกวนผู้คน

ด้วยความกล้าหาญและยุติธรรม นาจาเข้าต่อสู้และเผลอสังหารบริวารของมังกรตะวันออก ทำให้ราชามังกรโกรธแค้น และส่งบุตรชาย อ๋าวปิ่งมาจัดการ

อ๋าวปิ่งเป็นมังกรหนุ่มผู้สูงศักดิ์ รูปงาม และมีพลังเวทเช่นเดียวกัน

เมื่อทั้งสองเผชิญหน้า มันจึงกลายเป็นศึกใหญ่ที่ดุเดือดเลือดพล่าน อ๋าวปิ่งใช้เวทน้ำแข็งโจมตี ส่วนนาจาใช้หอกเพลิงและห่วงจักรวาลตอบโต้ ผลคือ อ๋าวปิ่งพ่ายแพ้และเสียชีวิต

นาจา vs อ๋าวปิ่ง ไม่ใช่แค่การสู้ของ “เทพกับมังกร” แต่คือ การต่อสู้ของ “ความกล้าหาญอิสระ” กับ “อำนาจสืบทอด”

แม้นาจาจะชนะ แต่นี่ไม่ใช่ชัยชนะที่น่าภาคภูมิ หรือเอาไปโม้ได้

เรื่องราวหลังจากนี้เป็นเวอร์ชั่นเดิมของตำนานนาจา (และอาจทำให้เด็กร้องไห้ได้)

  • ราชามังกรโกรธเกรี้ยวและฟ้องต่อสวรรค์

  • เมืองเฉินถังถูกสั่งลงโทษด้วยภัยแล้งและน้ำท่วม

  • หลี่จิ้ง (พ่อนาจา) ถูกเรียกตัวไปสอบสวน

  • ประชาชนโทษนาจาว่าเป็นสาเหตุของหายนะทั้งหมด

  • นาจาเสียใจที่ตนเองเป็นต้นเหตุของความทุกข์ สุดท้ายฆ่าตัวตายด้วยการคืนกระดูกให้พ่อ และคืนเนื้อให้แม่
    (ในบางเวอร์ชันมีการ "ถลกเนื้อ" เป็นสัญลักษณ์ของการชดใช้)

การที่ผู้สร้างไม่เน้นว่าต้องสร้างหนังเหมือนต้นฉบับทุกประการ ทำให้นาจา 2 เป็นหนังฟีลกู๊ดและหัวเราะทั้งน้ำตาได้

เพราะถ้าพิจารณากันตามจริงแล้ว อ๋าวปิ่งไม่ใช่ตัวร้าย หากแต่เป็นเหยื่อของระบบอำนาจที่ใช้ลูกหลานแก้แค้นแทน และความตายของอ๋าวปิ่งนี่เอง ที่กลายเป็นบาดแผลแห่งความผิดที่ฝังลึกในใจนาจา จนนำไปสู่การสละตน

มองนาจาผ่านเด็กคนนึง

ถ้าเป็นเวอร์ชั่นเก่า นาจาเป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมความพิเศษ พลังอันยิ่งใหญ่ แต่ ไม่ได้รับการยอมรับจากโลกภายนอก

เด็กผู้ชายวัยรุ่นที่อยากเป็นอิสระ อยากแสดงตัวตนที่แท้จริง แต่กลับถูกตีกรอบว่าต้อง เชื่อฟัง ควบคุมอารมณ์ และ เป็นเด็กดี ตามค่านิยม จนกลายเป็นภาพแทนของ “เด็กผู้ไม่ถูกเข้าใจ” และ “เด็กที่มีพลังแต่ถูกควบคุม”

การตีความเวอร์ชั่นใหม่ พ่อแม่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียง “ตัวแทนของอำนาจและกฎเกณฑ์” อีกต่อไป พวกเขาเริ่มเข้าใจว่า ลูกไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เป็นในแบบที่เราคาดหวังเสมอไป
แต่ลูกคือ คนคนหนึ่งที่มีความคิด ความรู้สึก และความเจ็บปวดของตนเอง ด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไขของแม่ ที่แสดงออก โดยที่...

  • ไม่ใช่เพราะนาจาเป็นเด็กดี

  • ไม่ใช่เพราะนาจาชนะศึก

  • แต่เพราะนาจา “คือเขา” แม้จะถูกสวรรค์ตราหน้าว่าเป็นปีศาจ

ทำให้นาจาเกิดความรู้สึกปลดล็อกจิตใจที่จะยอมรับตนเองอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรให้ใครอีก หรือที่เราเรียกว่า Self-actualization หมายถึง การเป็นตัวเองในแบบที่สมบูรณ์ ไม่ต้องเปลี่ยนเพื่อใครอีก

นาจาที่ถูกตีความขึ้นมาใหม่นี้เป็นตำนานของการเยียวยามากกว่าการต่อสู้ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนาจาไม่ใช่พลังเวทหรือการชนะศึก แต่เป็น "ความรักจากครอบครัว" ที่มองเขาอย่างเข้าใจ

จึงไม่แปลกใจเลย ที่ทำไม NeZha 2 จึงทัชใจผู้ชม และกวาดรายได้อย่างงดงาม

นาจาเวอร์ชันหลังเกิดใหม่ (Empowered Self)

หลังจากการฟื้นคืนชีวิต นาจากลายเป็นผู้มีพลังที่มีสติมากขึ้น ใช้พลังอย่างมีเป้าหมาย มีอิสระที่จะใช้พลัง โดยปราศจากการกดทับ แต่ไม่ใช่เพื่อตนเองอีกต่อไป ในทฤษฎีของ Carl Jung สิ่งนี้สะท้อนกระบวนการ “Individuation” ซึ่งการรวมตัวของเงา ความดี ความชั่ว ความเจ็บปวด เพื่อเกิดเป็นตัวตนที่แท้จริง

ดอกบัวหมายถึงอะไร

ตั้งแต่ภาคแรก เราจะเห็นว่าเส้นหนังเกี่ยวข้องกับดอกบัวผ่านสัญญะต่าง ๆ การฟื้นคืนชีวิตด้วยร่างดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของ "จิตที่ผ่านการบำบัด" ดอกบัวในพุทธศาสนาเปรียบได้กับ การหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นสัญญะของการยอมรับตนเองในแบบที่เป็น ไม่ใช่ในแบบที่ใครอยากให้เป็น

มองตัวเราผ่านนาจา

ในโลกของนาจาไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน เราเห็นภาพของเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมสิ่งที่เขาเองก็ยังไม่เข้าใจ พลังอันยิ่งใหญ่ ความแตกต่าง และภาระบางอย่างที่โลกภายนอกโยนใส่ตั้งแต่ยังไม่ทันเอ่ยคำแรก

ในโลกของเรา... หลายคนก็เป็นแบบนั้น เราอาจไม่เกิดมาพร้อมพลังวิเศษ แต่เราต่างเกิดมาพร้อม “บางสิ่ง” เช่น

  • ความรู้สึกไวเกินไป

  • ความฝันที่ไม่เหมือนใคร

  • ความกล้าหาญที่ถูกตีความว่าเป็นความดื้อด้าน

  • หรือแม้แต่ “ความเงียบ” ที่คนภายนอกมองว่าเป็นความอ่อนแอ

นาจาโกรธ ไม่ใช่เพราะเขาชั่วร้าย แต่โกรธเพราะ “ไม่มีที่ให้ยืน” ในโลกนี้แบบที่เขาเป็น

เมื่ออ๋าวปิ่งตายด้วยน้ำมือของนาจา มันไม่ใช่ชัยชนะ แต่มันคือ “บาดแผล” เหมือนกับเราหลายคนที่ “ทำในสิ่งที่ถูก” แล้วกลับรู้สึกผิด ผิดที่พูดความจริง ผิดที่เลือกทางของตัวเอง ผิดที่ไม่ทำตามความคาดหวังของครอบครัวหรือสังคม

เราจะ Self-actualization ได้ด้วยตนเองได้อย่างไร

คำถามนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่ม “ตื่น” จากการมีชีวิตอยู่แบบเดิม แล้วเริ่มหันกลับมามองว่า

เราคือใครกันแน่ และเราจะเป็นตัวเราเองได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร?

เราอาจไม่ใช่นาจา
แต่บางมุมของหัวใจเรา อาจเป็น "นาจา" มาตลอด
เด็กคนหนึ่งที่กำลังรอวันได้เป็นตัวเอง
และรอใครบางคนบอกเขาว่า “เธอมีค่าพอ... แค่เป็นเธอ”

นาจากลายเป็นร่างโตได้ ไม่ใช่เพราะเขาเก่งขึ้น
แต่เพราะเขาเริ่ม ยอมรับตัวเอง
และปล่อยให้ความรักเปลี่ยนแปลงตัวเขา

เราเอง… ก็กำลังอยู่ระหว่างทาง
ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แค่ค่อย ๆ เติบโต
แค่ยอมให้ตัวเองมีพื้นที่จะรู้สึก โกรธ ผิดพลาด เสียใจ และกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง

Self-Actualization (ตามแนวคิดของ Abraham Maslow) คือ การพัฒนา “ศักยภาพสูงสุด” ของตัวเองในแบบที่แท้จริง
ไม่ใช่การ “ดีพร้อม” แต่คือการ “เต็มที่กับความเป็นตัวเอง”
ไม่ใช่การ “สมบูรณ์แบบ” แต่คือการ “เป็นของจริง”
ไม่ใช่ “เราเป็นในแบบที่คนอื่นต้องการ” แต่คือ “เราเป็นในแบบที่เราเกิดมาเพื่อเป็น”

วิธีการไม่ยาก

  1. รู้จัก "ตัวเอง" ให้มากกว่าที่เคย Self-awareness คือประตูแรกของการเป็นตัวเอง ฝึกเขียน journal / ตั้งคำถามปลายเปิดกับตัวเอง / ทำแบบทดสอบ MBTI, DISC,หรือ Enneagram แล้วสำรวจว่าเราเชื่ออะไรเกี่ยวกับตัวเอง

  2. ยอมรับ “เงา” ของตัวเอง ไม่ปฏิเสธความกลัว ความอิจฉา หรือความเศร้า แต่กล้าบอกตัวเองว่า

    "นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของฉันเหมือนกัน"

    Carl Jung เรียกกระบวนการนี้ว่า Shadow Integration คือ การไม่ปฏิเสธด้านมืด แต่เรียนรู้จะรักและแปลงพลัง ของมัน

  3. ฝึก Self-Compassion คนที่เข้มแข็งที่สุดไม่ใช่คนที่วิจารณ์ตัวเองเก่งที่สุด แต่คือคนที่ ให้อภัยตัวเองเป็น และ อยู่กับความผิดพลาดของตัวเองได้

  4. ทำในสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเราเป็นประจำ ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายกับตัวเองในแต่ละวัน

  5. เลือกอยู่กับคนที่ มองเห็นตัวตนของเรา Self-actualization ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำลำพังตลอดเวลา เราโตขึ้นจากการได้รับ feedback ที่อ่อนโยนและจริงใจ อย่ากลัวที่จะ “เลือกคน” ที่ทำให้เรากล้าเป็นตัวเอง และ “ออกห่าง” จากคนที่ทำให้เราหมดพลังจะรักตัวเอง

    โดย Nayanee


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

จิตวิทยาแห่งการดูแลหลังบ้านของตนเอง ตามแบบ Jordan Peterson
09 ต.ค. 2567

จิตวิทยาแห่งการดูแลหลังบ้านของตนเอง ตามแบบ Jordan Peterson

ไลฟ์สไตล์ และชีวิต
Flexible Working: เทรนด์การทำงานยุคใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความสุขและประสิทธิภาพในองค์กร
09 ต.ค. 2567

Flexible Working: เทรนด์การทำงานยุคใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความสุขและประสิทธิภาพในองค์กร

ทุนมุนษย์ และการพัฒนา